ระเบียบคณะกรรมการบริหารกีฬามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลแห่งประเทศไทย
ว่าด้วยการจัดการแข่งขันกีฬาวอลเลย์บอลชายหาด กีฬามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลแห่งประเทศไทย ครั้งที่ ๓๔
ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จังหวัดเชียงใหม่
***********************
โดยที่เป็นการสมควรวางระเบียบคณะกรรมการบริหารกีฬามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการจัดการแข่งขันกีฬาวอลเลย์บอลชายหาด กีฬามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลแห่งประเทศไทย
อาศัยอำนาจตามความในหมวด ๕ ข้อ ๒๔ แห่งข้อบังคับคณะกรรมการบริหารกีฬามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลแห่งประเทศไทยว่าด้วยการจัดการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลแห่ง ประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๕๑ และฉบับปรับปรุงแก้ไข จึงวางระเบียบไว้ดังนี้
ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบคณะกรรมการบริหารกีฬามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการจัดการแข่งขันกีฬาวอลเลย์บอลชายหาด กีฬามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลแห่งประเทศไทย ครั้งที่ ๓๔”
ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ บรรดาระเบียบที่ขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ให้ใช้ระเบียบนี้แทน
ข้อ ๔ ข้อบังคับและกติกาการแข่งขัน
๔.๑ ให้ใช้ข้อบังคับคณะกรรมการบริหารกีฬามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการจัดการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๕๑ และฉบับปรับปรุงแก้ไข
๔.๒ ให้ใช้กติกาการแข่งขันของสหพันธ์วอลเลย์บอลนานาชาติ (FIVB) ซึ่งสมาคมวอลเลย์บอล แห่งประเทศไทย ประกาศใช้อย่างเป็นทางการในปัจจุบัน แต่ทั้งนี้ ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้
ข้อ ๕ ประเภทการแข่งขัน
๕.๑ ทีมชาย
๕.๒ ทีมหญิง
ข้อ ๖ คุณสมบัติของผู้เข้าแข่งขัน
ให้เป็นไปตามหมวด ๓ ข้อ ๘ ข้อ ๙ ข้อ ๑๐ แห่งข้อบังคับคณะกรรมการบริหารกีฬามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการจัดการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๕๑ และฉบับปรับปรุงแก้ไข
ข้อ ๗ จำนวนผู้เข้าแข่งขัน
๗.๑ ให้แต่ละมหาวิทยาลัยส่งรายชื่อนักกีฬาเข้าแข่งขันได้ประเภทละ ๑ ทีม ในแต่ละทีมส่งรายชื่อนักกีฬาได้ไม่เกิน ๓ คน และอาจมีนักกีฬาสำรองได้อีก ๑ คน
๗.๒ ให้ผู้จัดการทีมหรือผู้ฝึกสอนหรือผู้ช่วยผู้ฝึกสอนยืนยันรายชื่อนักกีฬาที่ลงทำการแข่งขันได้ ไม่เกิน ประเภทละ ๒ คน จากรายชื่อตามข้อ ๗.๑ ต่อคณะอนุกรรมการจัดการแข่งขันฝ่ายเทคนิคกีฬา ในวันประชุมผู้จัดการทีม
๗.๓ หลังจากยืนยันรายชื่อนักกีฬาที่ลงทำการแข่งขันตามข้อ ๗.๒ ไม่อนุญาตให้แก้ไขเปลี่ยนแปลง ไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งสิ้น
๗.๔ ในแต่ละทีมให้มีเจ้าหน้าที่ทีมได้ไม่เกิน ๒ คน ประกอบด้วย ผู้จัดการทีม ๑ คน และผู้ฝึกสอน ๑ คน
ข้อ ๘ วิธีการจัดการแข่งขันและหลักเกณฑ์
๘.๑ กรณีมีจำนวนทีมเข้าแข่งขัน ๙ ทีม ให้จัดการแข่งขันดังต่อไปนี้
๘.๑.๑ รอบแรก ให้แบ่งการแข่งขันเป็น ๓ สาย ๆ ละ ๓ ทีม แข่งขันแบบพบกันหมดในสาย คัดเลือกผู้มีคะแนนที่ ๑ และ ๒ เข้าแข่งขันในรอบ ๒
๘.๑.๒ รอบสอง แบ่งเป็น ๘ ทีม ให้ทีมที่มีคะแนนที่ ๑ และที่ ๒ ของแต่ละสายเข้ารอบสองเป็น ๖ ทีม และคัดอันดับที่ ๓ ที่ดีที่สุด ๒ ทีม จาก ๓ สายเข้ารอบสอง รวมเป็น ๘ ทีม ใช้วิธีการแข่งขันแบบแพ้คัดออก โดยแบ่งคู่แข่งขันดังนี้
คู่ที่ ๑๐ ที่ ๑,๒ สาย (A,B,C) – ที่ ๒,๓ สาย(A,B,C)
คู่ที่ ๑๑ ที่ ๑,๒ สาย (A,B,C) – ที่ ๒,๓ สาย(A,B,C)
คู่ที่ ๑๒ ที่ ๑,๒ สาย (A,B,C) – ที่ ๒,๓ สาย(A,B,C)
คู่ที่ ๑๓ ที่ ๑,๒ สาย (A,B,C) – ที่ ๒,๓ สาย(A,B,C)
๘.๑.๒.๑ การจับฉลากคู่แข่งขันในรอบสอง ให้ดำเนินการตามลำดับดังนี้
(๑) ให้ทำการจับฉลากทีมที่ได้อันดับ ๑ ของแต่ละสาย เพื่อเป็นทีมวาง
(๒) ให้ทำการจับฉลากทีมที่ได้อันดับ ๒ ของแต่ละสายจำนวน ๑ ทีม เพื่อเป็นทีมวาง
(๓) ให้ทำการจับฉลากทีมที่ได้อันดับ ๒ และ๓ ที่เหลือ เพื่อเป็นคู่แข่งขันของทีมใน (๑) และ (๒)
(๔) ทั้งนี้ คู่การแข่งขันใน (๓) จะต้องไม่เป็นคู่แข่งขันที่มาจากสายเดียวกันในรอบแรก
๘.๑.๓ รอบรองชนะเลิศ ๔ ทีมสุดท้าย
คู่ที่ ๑๔ ผู้ชนะคู่ที่ ๑๐ – ผู้ชนะคู่ที่ ๑๒
คู่ที่ ๑๕ ผู้ชนะคู่ที่ ๑๑ – ผู้ชนะคู่ที่ ๑๓
๘.๑.๔ รอบชิงชนะเลิศ ให้ทีมชนะเลิศในรอบรองชนะเลิศเข้าชิงอันดับ ๑ และทีมแพ้ในรอบรองชนะเลิศ ชิงอันดับที่ ๓
๘.๑.๕ การจับฉลากแบ่งสายให้ดำเนินการดังนี้
(๑) ลำดับที่ ๑ ทีมที่ชนะเลิศ รองชนะเลิศ และอันดับสาม ในการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลแห่งประเทศไทยครั้งที่ผ่านมา ให้จับสลากเป็นทีมวางในแต่ละสาย กรณีมีอันดับสาม ๒ ทีม ให้ใช้วิธีการจับสลาก
(๒) ลำดับที่ ๒ ให้ทีมที่เหลือยกเว้นทีมเจ้าภาพจับสลากเข้าสาย
(๓) ลำดับที่ ๓ ให้ทีมเจ้าภาพมีสิทธิ์เลือกสายการแข่งขันได้ จากนั้นทีมที่เหลือจับฉลากเข้าสาย
๘.๑.๖ การคิดคะแนนการแข่งขัน
ทีมชนะ ได้ ๒ คะแนน
ทีมแพ้ ได้ ๑ คะแนน
ทีมที่ไม่มาแข่งขันหรือไม่พร้อมทำการแข่งขัน ได้ ๐ คะแนน
๘.๒ กรณีจำนวนทีมเข้าร่วมการแข่งขัน ๖ ถึง ๘ ทีม ให้จัดการแข่งขันดังต่อไปนี้
๘.๒.๑ รอบแรก ให้แบ่งการแข่งขันออกเป็น ๒ สาย ในแต่ละสายแข่งขันโดยพบกันหมดเพื่อคัดเลือกทีมที่มีคะแนนเป็นที่ ๑ และ ๒ ของแต่ละสาย เข้ารอบรองชนะเลิศ
๘.๒.๒ การจับฉลากแบ่งสายให้ดำเนินการดังนี้
(๑) ลำดับที่ ๑ ทีมที่ชนะเลิศ รองชนะเลิศ ในการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลแห่งประเทศไทยครั้งที่ผ่านมา ให้จับสลากเป็นทีมวางในแต่ละสาย
(๒) ลำดับที่ ๒ ให้ทีมที่เหลือยกเว้นทีมเจ้าภาพจับสลากเข้าสาย
(๓) ลำดับที่ ๓ ให้ทีมเจ้าภาพมีสิทธิ์เลือกสายการแข่งขันได้ จากนั้นทีมที่เหลือจับฉลากเข้าสาย
๘.๒.๓ รอบรองชนะเลิศ
คู่ที่ ๑ ให้ทีมที่มีคะแนนอันดับ ๑ สาย A พบกับทีมที่มีคะแนนอันดับ ๒ สาย B
คู่ที่ ๒ ให้ทีมที่มีคะแนนอันดับ ๑ สาย B พบกับทีมที่มีคะแนนอันดับ ๒ สาย A
๘.๒.๔ รอบชิงชนะเลิศ
ให้ทีมชนะในรอบรองชนะเลิศทำการแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ และทีมแพ้ในรอบรองชนะเลิศ ทำการแข่งขันในรอบชิงอันดับที่ ๓
๘.๓ ในกรณีที่มีทีมเข้าแข่งขัน ๔ – ๕ ทีม ให้จัดการแข่งขันแบบพบกันหมด ทีมที่ได้คะแนนสูงสุดเป็นทีมชนะเลิศ รองชนะเลิศ และอันดับ ๓ ตามลำดับ
๘.๔ ในกรณีที่มีทีมแข่งขัน ๑ ถึง ๓ ทีม ไม่จัดการแข่งขัน
๘.๕ ใช้ระบบการเล่นแบบได้คะแนนทุกครั้งที่มีการเล่นลูก (Rally-Point Scoring)
๘.๖ ทีมที่ทำได้ ๒๑ คะแนนก่อน จะเป็นทีมที่ชนะการแข่งขันในเซตนั้น ถ้าทำคะแนนได้ ๒๐ คะแนนเท่ากัน จะแข่งขันต่อไปจนกว่าทีมใดทีมหนึ่งทำคะแนนนำอีกทีมหนึ่งอย่างน้อยที่สุด ๒ คะแนน
๘.๗ ในกรณีได้เซตเท่ากัน (๑ : ๑ เซต) การแข่งขันเซตตัดสิน (เซตที่ ๓) จะแข่งขันกัน ๑๕ คะแนน ทีมที่ทำได้ ๑๕ คะแนนก่อน จะเป็นทีมที่ชนะการแข่งขันในเซตนั้น ถ้าทำคะแนนได้ ๑๔ คะแนนเท่ากัน จะแข่งขันต่อไปจนกว่าทีมใดทีมหนึ่งทำคะแนนนำอีกทีมหนึ่งอย่างน้อยที่สุด ๒ คะแนน
๘.๘ คะแนนที่ได้จากการแข่งขัน
ทีมชนะ ได้ ๒ คะแนน
ทีมแพ้ ได้ ๑ คะแนน
ทีมที่ไม่มาปรากฏตัวหรือปฏิเสธที่จะแข่งขัน หรือบาดเจ็บจนทีมไม่สามารถแข่งขันต่อได้ จะไม่มีคะแนนการแข่งขัน ได้ ๐ คะแนน
๘.๙ การหาอันดับของทีมเพื่อจัดอันดับหรือเข้าทำการแข่งขันในรอบต่อไป ให้ดำเนินการดังนี้
๘.๙.๑ ถ้ามีคะแนนเท่ากัน ๒ ทีมขึ้นไป ให้ดูจำนวนแมทช์ที่ชนะ ทีมใดชนะมากกว่าจะได้อันดับที่ดีกว่า
๘.๙.๒ หากดำเนินการตามข้อ ๘.๙.๑ แล้วยังเท่ากัน ให้ดูจากคะแนนได้หารด้วยคะแนนเสีย ทีมใดมีผลคะแนนมากกว่า ได้อันดับที่ดีกว่า
๘.๙.๓ หากดำเนินการตามข้อ ๘.๙.๒ แล้วยังเท่ากัน ให้ดำเนินการโดยวิธีจับฉลากเพื่อหาอันดับที่ดีกว่าของทีม
๘.๙.๔ การหาทีมอันดับที่ ๓ ที่ดีที่สุด เพื่อเข้าทำการแข่งขันในรอบต่อไป ให้ดำเนินการตามข้อ ๘.๙.๑ ,๘.๙.๒ และ ๘.๙.๓ ตามลำดับ
ข้อ ๙ กำหนดการแข่งขัน
คณะอนุกรรมการจัดการแข่งขันฝ่ายเทคนิคกีฬา เป็นผู้กำหนดวัน เวลา และสถานที่ในการแข่งขัน และอาจเปลี่ยนแปลงได้ถ้ามีเหตุจำเป็น แต่ต้องไม่ขัดกับข้อบังคับคณะกรรมการบริหารกีฬามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการจัดการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๕๑ และฉบับปรับปรุงแก้ไข
ข้อ ๑๐ ชุดแข่งขันและอุปกรณ์การแข่งขัน
๑๐.๑ ชุดแข่งขัน ให้เป็นไปตามกติกาการแข่งขันของสหพันธ์วอลเลย์บอลนานาชาติ (FIVB) หรือสมาคมวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย กำหนดใช้ในปัจจุบันหรืออนุโลมให้ใช้กางเกงขาสั้นรัดรูปโดยขายาวจากเป้าไม่เกิน ๕ เซนติเมตร เสื้อไม่มีแขน
๑๐.๑.๑ ให้แต่ละทีมเตรียมชุดแข่งขันอย่างน้อย ๒ ชุด เป็นชุดที่แจ้งสีไว้
๑๐.๑.๒ ให้ผู้จัดการทีมแจ้งสีของชุดแข่งขันต่อคณะอนุกรรมการจัดการแข่งขันฝ่ายเทคนิคกีฬา ในวันประชุมผู้จัดการทีม
๑๐.๑.๓ ให้ผู้เข้าแข่งขันทุกทีมแต่งกายถูกต้องตามที่กำหนดไว้ในกติกา และต้องติดหมายเลขประจำตัว ไว้ที่เสื้อทั้งด้านหน้า และด้านหลังตามที่กำหนดในกติกาการแข่งขันวอลเลย์บอลชายหาดให้ใช้หมายเลข ๑ - ๒ เท่านั้นโดยหมายเลขเสื้อต้องตรงกับที่แจ้งไว้ในเอกสารการสมัคร
๑๐.๑.๔ ให้เจ้าหน้าที่ทีมทุกคนที่ลงมาปฏิบัติหน้าที่ในการแข่งขัน ต้องแต่งกายสุภาพเรียบร้อยหรือตามกฎของสหพันธ์วอลเลย์บอลนานาชาติ (FIVB)หรือสมาคมวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย
๑๐.๒ อุปกรณ์การแข่งขัน ให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะอนุกรรมการจัดการแข่งขันฝ่ายเทคนิคกีฬา
ข้อ ๑๑ ข้อปฏิบัติในการแข่งขัน
๑๑.๑ ผู้เข้าแข่งขันต้องยอมรับคำตัดสินและให้ความร่วมมือในการปฏิบัติของคณะอนุกรรมการจัดการแข่งขันฝ่ายเทคนิคกีฬา กรรมการผู้ตัดสิน และเจ้าหน้าที่ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในการแข่งขันอย่างเคร่งครัด
๑๑.๒ ให้ทีมที่เข้าแข่งขันจะต้องส่งรายชื่อก่อนการแข่งขัน ๒๐ นาที และลงแข่งขันตามวัน เวลา และสถานที่ที่คณะอนุกรรมการจัดการแข่งขันฝ่ายเทคนิคกีฬา กำหนดไว้ เมื่อพ้นเวลาที่กำหนดตามเวลาแข่งขันไว้ ทีมใดยังไม่ลงแข่งขัน ให้ปรับทีมนั้นเป็นแพ้ ในกรณีดังกล่าว ให้คณะอนุกรรมการจัดการแข่งขันฝ่ายเทคนิคกีฬา รายงานคณะกรรมการบริหารกีฬามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการจัดการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๕๑ และฉบับปรับปรุงแก้ไข
๑๑.๓ ผู้เข้าแข่งขันคนใดที่ถูกตัดสินสั่งให้ออกจากการแข่งขัน ให้เป็นไปตามกติกาการแข่งขันของสหพันธ์วอลเลย์บอลนานาชาติ (FIVB) หรือสมาคมวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทยใช้ในปัจจุบัน
๑๑.๔ ผู้เข้าแข่งขันคนใดหรือทีมใดไม่ลงแข่งขันตามวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนด โดยไม่มีเหตุ อันสมควร หรือผละจากการแข่งขันที่กำลังดำเนินอยู่ ให้ปรับเป็นแพ้ ในกรณีดังกล่าวให้คณะอนุกรรมการจัดการแข่งขันฝ่ายเทคนิคกีฬา รายงานคณะอนุกรรมการจัดการแข่งขัน และพิจารณาโทษตามหมวด ๑๓ ข้อ ๓๔ และข้อ ๓๑ แห่งข้อบังคับคณะกรรมการบริหารกีฬามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลแห่งประเทศไทยว่าด้วยการจัดการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๕๑และฉบับปรับปรุงแก้ไข
๑๑.๕ ตลอดเวลาการแข่งขันผู้เข้าร่วมการแข่งขันต้องประพฤติตนให้สมกับการเป็นนักกีฬาที่ดี และปฏิบัติตามกติกาการแข่งขันอย่างเคร่งครัด
ข้อ ๑๒ รางวัลการแข่งขัน
ให้มหาวิทยาลัยเจ้าภาพจัดรางวัลการแข่งขันให้กับนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ที่ลงทำการแข่งขันจริง ดังนี้
รางวัลที่ ๑ เหรียญชุบทอง พร้อมเกียรติบัตร
รางวัลที่ ๒ เหรียญชุบเงิน พร้อมเกียรติบัตร
รางวัลที่ ๓ เหรียญชุบทองแดง พร้อมเกียรติบัตร
ข้อ ๑๓ กรรมการตัดสินและเจ้าหน้าที่
ให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะอนุกรรมการจัดการแข่งขันฝ่ายเทคนิคกีฬา โดยความเห็นชอบของคณะอนุกรรมการจัดการแข่งขัน
ข้อ ๑๔ การประท้วง อุทธรณ์ และบทลงโทษ
ให้เป็นไปตามหมวด ๑๑ ข้อ ๒๙ ข้อ ๓๐ หมวด ๑๒ ข้อ ๓๑ ข้อ ๓๒ ข้อ ๓๓ และหมวด ๑๓ ข้อ ๓๔ แห่งข้อบังคับคณะกรรมการบริหารกีฬามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลแห่งประเทศไทยว่าด้วยการจัดการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๕๑ และฉบับปรับปรุงแก้ไข
ข้อ ๑๕ ให้คณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลแห่งประเทศไทย ครั้งที่ ๓๔ รักษาการตามระเบียบนี้
ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการใช้ระเบียบนี้ ให้คณะอนุกรรมการจัดการแข่งขันฝ่ายเทคนิคกีฬา โดยความเห็นชอบของคณะอนุกรรมการจัดการแข่งขัน เป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดและคำวินิจฉัยชี้ขาดให้ถือเป็นที่สุด
ประกาศ ณ วันที่ เดือน พ.ศ. ๒๕๖๐
(ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประพัฒน์ เชื้อไทย)
รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
ประธานคณะอนุกรรมการจัดการแข่งขัน
กีฬามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลแห่งประเทศไทย ครั้งที่ ๓๔
ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา